อินทรี อีโคไซเคิล ผนึกกำลังสถาบันวิจัย SINTEF และกองเรือยุทธการ เก็บขยะชายหาดดงตาล ลดขยะพลาสติกรั่วไหลสู่ทะเล

08.06.2024

อินทรี อีโคไซเคิล ผนึกกำลังสถาบันวิจัย SINTEF และกองเรือยุทธการ จัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาด เนื่องในวันทะเลโลก 8 มิถุนายน 2567 ณ หาดดงตาล อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อช่วยลดปริมาณขยะไม่ให้หลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม และมุ่งสร้างจิตสำนึกการแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน

กิจกรรมนี้ได้รับความร่วมมือจากจิดอาสากว่า 150 คนจากอินทรี อีโคไซเคิล, ผู้เข้าร่วมงานสัมมนา “การจัดการพลาสติกในมหาสมุทร ให้กลายเป็นโอกาสในเศรษฐกิจหมุนเวียน (OPTOCE)” และเจ้าหน้าที่กองเรือยุทธการ ร่วมเก็บขยะชายหาดเป็นระยะทาง 1.2 กิโลเมตร โดยสามารถรวบรวมขยะได้ทั้งหมดกว่า 2,285 กิโลกรัม แบ่งเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF (Refuse-Derived Fuel) หรือขยะที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้กว่า 2,000 กิโลกรัม โดยเชื้อเพลิงขยะ RDF เหล่านี้จะถูกส่งไปที่อินทรี อีโคไซเคิลเพื่อนำไปเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์เป็นพลังงานความร้อนทดแทนถ่านหินต่อไป

สุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด กล่าวว่า “อินทรี อีโคไซเคิล ในฐานะผู้ให้บริการด้านการจัดการของเสียและบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการจัดการขยะให้เกิดความยั่งยืน และผลกระทบจากขยะพลาสติกที่รั่วไหลสู่ท้องทะเลและมหาสมุทร จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรด้านความยั่งยืนทุกภาคส่วนในการร่วมแก้ไขปัญหาและมุ่งเน้นแนวทางการนำทรัพยากรต่างๆ หมุนเวียนกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอินทรี อีโคไซเคิลมองว่า ‘ขยะ คือ ทรัพยากร’ ขยะที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ มีมูลค่าต่ำ และไม่มีคนรับซื้อ เช่น พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หลอดพลาสติก ถุงพลาสติกบางประเภท บรรจุภัณฑ์ต่างๆ มักจะถูกส่งไปยังบ่อขยะ และอาจหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม และท้ายที่สุดก็จะรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำและท้องทะเล สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF (Refuse-Derived Fuel) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการปิดวงจร (Close the Loop) ของขยะที่ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy”

อินทรี อีโคไซเคิลได้ดำเนินโครงการที่มุ่งส่งเสริมการจัดการขยะอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด โดยได้มีการดำเนินโครงการรื้อร่อนเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยจากบ่อขยะเพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการต่างๆ กับพันธมิตรด้านความยั่งยืน เช่น โครงการ Drop-off และเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วที่มีมูลค่าต่ำหรือไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยเฉพาะพลาสติกหลายชั้น และภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว นำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ ช่วยลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกไปยังทะเลและมหาสมุทร